บทบาทของผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียรู้ตามแนวการปฎิรูปการศึกษา
การมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี จะต้องได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานจากบุคลากรทุกฝ่าย ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน บิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลหรือหน่วยงานในชุมชน ได้แก่ องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในลักษณะต่าง ๆ หลายลักษณะ โดยถือว่าการจัดการศึกษาเป็นภาระหน้าที่สำหรับทุกคน การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือบุคลากรทุกฝ่ายอาจดำเนินการได้หลายทาง ได้แก่
1. การมีส่วนร่วมเป็นกรรมการ
ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการศึกษา ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน เพราะการเป็นกรรมการไม่ใช่เรื่องของอภิสิทธิ์ส่วนตัว แต่เป็นภาระเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรรมการมีหน้าที่กำกับ ดูแล ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน
ดังนั้น กรรมการจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอน การบริหารและการจัดการศึกษา ระบบการประกันคุณภาพ การจัดทำหลักสูตร การประเมินคุณภาพการศึกษา การระดมทรัพยากรการเงินและบุคคลเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเป็นกรรมการได้เข้าใจบทบาทหน้าที่อย่างจริงจัง สถานศึกษาควรจัดทำคู่มือการเป็นกรรมการและนำเสนอผ่านสื่อ การปฐมนิเทศ หรือการฝึกอบรมสำหรับกรรมการที่ยังขาดประสบการณ์ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกรรมการด้วย
2. การร่วมจัดการศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 57 กำหนดให้หน่วยงานการศึกษาระดมทรัพยากรบุคคลในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยนำประสบการณ์ ความรอบรู้ ความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาและยกย่องเชิดชูผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา
3. การร่วมสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา
บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นจะร่วมสนับสนุนการศึกษาได้โดยร่วมกันให้ความรู้หรือประสบการณ์ในฐานะทรัพยากรบุคคลหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือสนับสนุนโดยการบริจาคทรัพย์สิน หรือทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา รวมทั้งการมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็นด้วย
4. การร่วมกำกับดูแล
เนื่องจากการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดเงื่อนไขใหม่ๆ เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องทำหน้าที่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับจรรยาบรรณและมาตรฐานของวิชาชีพ สถานศึกษาต้องมีระบบประกันคุณภาพ เป็นต้น ดังนั้นประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมเรียกร้องคุณภาพทางการศึกษาที่เป็นมาตรฐาน ทักท้วง ตักเตือน หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมประเมินคุณภาพของบุคคลและสถานศึกษา รวมทั้งร่วมยกย่องเชิดชูเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมด้วย
หากบุคลากรในสถานศึกษาทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มที่ และเปิดโอกาสให้บุคคลและหน่วยงานนอกสถานศึกษาได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งในฐานะกรรมการสถานศึกษา วิทยากรหรือปราชญ์ชาวบ้าน หรือในฐานะผู้ให้การสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาและฐานะผู้ประเมินคุณภาพของสถานศึกษาแล้ว ย่อมเชื่อมั่นได้ว่าสถานศึกษานั้นจะประสบผลสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษาและการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น